ว่านหางจระเข้ มีสายพันธุ์มากกว่า 300 สายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นพืชล้มลุก ใบเป็นใบเดี่ยว ใบหนาและเรียวยาว ใบอวบน้ำ โคนใบใหญ่ มีหนามบริเวณริมใบโดยรอบ ใบจะแทงขึ้นมาจากดิน ออกดอกเป็นช่อมีสีส้มแดง ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ ชอบพื้นดินที่ชุ่มชื้น น้ำซึมผ่านได้ง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบอากาศร้อนชื้น
ว่านหางจระเข้ ถูกใช้เป็นพืชสมุนไพรมาตั้งแต่อดีต มีสรรพคุณ ในการสมานบาดแผลให้หายสนิทได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะรู้จัก และถูกใช้ในด้านการของความสวยความงาม น้อยนักที่จะรู้ว่าสรรพคุณทางยาด้านอื่น ๆ ยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะในว่านหางจระเข้มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มาก จึงใช้ลดอุณหภูมิร่างกายได้เป็นอย่างดี ช่วยไล่พิษร้อน และแก้อาการร้อนใน
ประโยชน์ของว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของสารอาหารหลายชนิด มีวิตามินเอ ช่วยในการบำรุงสายตา วิตามินบีรวม ช่วยบำรุงระบบประสาท บำรุงกล้ามเนื้อ บำรุงเซลล์ผิวหนัง บำรุงเนื้อเยื่อ วิตามินอี ช่วยบำรุงผิว ผม และเล็บให้แข็งแรง
มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ช่วยเสริมสร้างกระดูก และฟันให้แข็งแรง โพแทสเซียมที่ควบคุมสมดุลระบบของเหลวในร่างกาย สังกะสี ช่วยในการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ช่วยในการทำงานของเซลล์ ซีลีเนียม ช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือด
คุณค่าทางด้านสมุนไพร
- ใบ : ใช้ส่วนที่เป็นผิวใบสีเขียว นำมาโขลกให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาว ใช้พอกแผลที่เป็นหนองหรืออักเสบ ใช้พอกฝีเพื่อสมานแผลให้หายเร็วยิ่งขึ้น ส่วนที่เป็นวุ้นใสสีขาวฝานบาง ๆ ทาแผลที่เกิดจากการโดนความร้อน โดนไฟไหม้ มีสรรพคุณช่วยลดอาการแสบร้อน ช่วยดับพิษร้อนทำให้ผิวเย็น ช่วยสมานแผล และลดรอยแผลเป็น ใช้ทาผิวเพื่อป้องกันผิวไหม้จากการโดนแสงแดด ใช้กินเพื่อบำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน สมานแผลในช่องปาก และทางเดินอาหาร รักษาแผลในกระเพาะ
- ราก : นำมาทุบให้ละเอียด หรือ ปั่นด้วยเครื่องปั่นรอบสูงให้ละเอียด ต้มกับน้ำดื่มเพื่อขับของเสียในร่างกาย ขับหนอง และน้ำเหลือง
รักษาแผลในกระเพาะด้วยวุ้นหางจระเข้
- ใช้ใบแก่ปอกเปลือกออก เอาแต่ส่วนที่เป็นเนื้อวุ้นใส ๆ หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ล้างน้ำให้สะอาด นำไปแช่ในน้ำเชื่อมทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำเชื่อมซึมเข้าเนื้อวุ้น ใช้กินเป็นของว่าง สรรพคุณช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร ทางเดินอาหาร และลำไส้ เคลือบกระเพาะอาหาร ป้องกันโรคกระเพาะ
ชื่อ : ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe barbadensis Mill.
วงศ์ : Asphodelaceae